รวมทุกข้อกฎหมายการจอดรถข้างทางที่คุณต้องรู้! ครบจบที่เดียว
10 กุมภาพันธ์ 2023
ผู้ชม: 4739 คน

 

รวมทุกข้อกฎหมายการจอดรถข้างทางที่คุณต้องรู้! ครบจบที่เดียว

 

ข้อกฎหมายการจอดรถข้างทาง ที่มือใหม่ต้องรู้

               เรื่องที่จอดรถยนต์เป็นปัญหาหนึ่งที่เจ้าของรถจำนวนมากต้องพบเจอ ด้วยปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับพื้นที่ในการจอดที่มีจำนวนเท่าเดิมหรืออาจน้อยกว่าจำนวนรถที่มีในปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ หลายๆ คนมักจะพบเจอการจอดรถยนต์ตามซอกซอย หมู่บ้าน และริมทางสัญจรอยู่บ่อย หากใครที่จอดแล้วไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าจอดแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อนจนกลายเป็นปัญหาบานปลายงานนี้อาจจะทำให้เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน และสุขภาพจิตไปฟรีๆ เลยก็ได้

               วันนี้ TIPINSURE จะมาอธิบายให้คุณได้เข้าใจถึงมารยาทการจอดรถยนต์ที่คุณควรรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดใจกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น พร้อมแนะนำข้อกฎหมายการจอดรถข้างทางว่าแบบไหนคือลักษณะการจอดที่ถูกต้องและแบบไหนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

 

7 ข้อกฎหมายการจอดรถข้างทาง แบบไหนไม่ผิดกฎหมาย

               สำหรับในเรื่องการจอดรถยนต์นั้นหากว่ากันตามกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือว่ามีหลายข้อที่ผู้ใช้รถยนต์ทุกคนต้องคำนึงก่อนที่คิดจะจอดในบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่ตัวเอง โดยมีข้อกฎหมายการจอดรถข้างทางที่สำคัญมาอธิบายดังต่อไปนี้

1. จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม

               การจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นทางเข้า-ออก ถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจนซึ่งจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเจ้าของบ้านหรือเจ้าทุกข์สามารถร้องเรียกและดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้ตามมาตรา 420 มากไปกว่านั้นหาก ณ บริเวณนั้นถือเป็นทางสาธารณะอาจได้รับโทษอาญาจาก พ.ร.บ. จราจรทางบกไปอีกหนึ่งกระทงเลยทีเดียว

2. จอดรถบนไหล่ทาง ผิดไหมกฎหมายไหม

จอดรถบนไหล่ทาง ผิดกฎหมายไหม

               การจอดรถยนต์บนไหล่ทางที่ถูกต้องตามกฎหมายการจอดรถข้างทางหรือตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้ขับขี่จอดรถยนต์ในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอที่จะให้รถคันอื่นๆ ที่สัญจรไปมาสังเกตเห็นได้ในระยะ 150 เมตร โดยสิ่งที่คุณควรทำคือการเปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้ตลอด หรือใช้อุปกรณ์สำหรับการเตือนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สังเกตเห็นได้ เช่น เครื่องหมายเตือนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า, กรวยสะท้อนแสง และโคมไฟสัญญาณ โดยจะต้องวางไว้ในระยะที่ห่างจากรถของคุณไม่น้อยกว่า 50 เมตรเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด

3. จอดสวนเลนผิดกฎหมายไหม

จอดสวนเลนผิดกฎหมายไหม

               การจอดรถยนต์ในตำแหน่งสวนเลนถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ในมาตรา 54 วรรคสองโดยระบุไว้ว่า ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถและจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทาง หรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกิน 25 ซม. แต่ในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางซ้ายสุดของทางเดินรถ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในลักษณะดังกล่าวในเวลาที่กำหนดให้ใช้ช่องเดินรถประจำทางนั้น และในมาตรา 148 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 54 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

4. จอดรถไม่ขนานกับริมทางเท้า ผิดไหม

จอดรถไม่ขนานกับริมทางเท้า ผิดไหม

               การจอดรถยนต์ตรงริมทางเท้าที่ถูกต้องนั้นควรจอดให้ชัดในระยะไม่เกิน 25 ซม. ในบริเวณที่ไม่มีสัญลักษณ์ห้ามจอด และต้องแน่ใจแล้วว่าเป็นบริเวณที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. จราจรทางบก ในมาตรา 54 วรรคสอง เช่นเดียวกันข้อที่ 3 และอาจจะโดนมาตราที่ 38 ที่ว่าด้วยเรื่องการหยุดรถจะต้องหยุดในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร และต้องพิจารณาแล้วว่าปลอดภัยไม่กีดขวางการจราจรจึงจะสามารถจอดริมทางด้านซ้ายได้

5. จอดรถบนถนนหน้าบ้านตัวเอง มีความผิดไหม

จอดรถบนถนนหน้าบ้านตัวเอง มีความผิดไหม

               การจอดรถยนต์หน้าบ้านตัวเองหลายคนมักจะคิดว่าเป็นพื้นที่ของตัวเองถือว่าไม่ผิด แต่เรื่องนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะเจ้าของรถยนต์มีโอกาสทำผิดกฎหมายการจอดรถข้างทางจากหลายกรณีด้วยกันดังนี้ 

  • จอดรถในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก

  • จอดรถในบริเวณที่มีเครื่องหมายหรือมีสัญลักษณ์ห้ามจอด

  • จอดรถตรงปากทางเข้า-ออกของบ้าน อาคาร ทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ

  • จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

6. จอดรถบนสะพานหรือในอุโมงค์ ได้ไหม

จอดรถบนสะพานหรือในอุโมงค์ ได้ไหม

               การจอดรถยนต์บนสะพานข้ามแยก สะพานลอย และอุโมงค์ ถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจอดรถยนต์ในบริเวณที่มีเครื่องหมายหรือมีสัญลักษณ์ห้ามจอด โดยเจ้าหน้าที่สามารถทำการล็อกล้อและเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่ได้ทันที

7. จอดรถซ้อนคัน ผิดกฎหมายไหม

จอดรถซ้อนคัน ผิดกฎหมายไหม

               การจอดรถยนต์ซ้อนคันในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจอดรถยนต์ในบริเวณที่มีเครื่องหมายหรือมีสัญลักษณ์ห้ามจอดเช่นเดียวกับการจอดรถยนต์บริเวณสะพานและอุโมงค์ โดยคุณจะสามารถจอดได้ในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าหรือในพื้นที่เอกชนที่มีการทำช่องพิเศษไว้ให้เท่านั้น และมารยาทที่สำคัญคือห้ามดึงเบรกมือโดยเด็ดขาดให้ใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ N เพื่อให้รถของคุณเข็นได้

 

รวมลักษณะการจอดรูปแบบอื่นๆ ที่เข้าข่ายฝ่าฝืนความผิดในบริเวณที่มีสัญลักษณ์ห้ามจอด

  • ห้ามจอดรถบนทางเท้า

  • ห้ามจอดรถในที่คับขัน

  • ห้ามจอดรถในทางม้าลาย หรือระยะ 3 เมตร จากทางม้าลาย

  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์

  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร

  • ห้ามจอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง

สรุปเกี่ยวกับข้อกฎหมายการจอดรถข้างทาง

               การจอดรถยนต์ในบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คนใช้รถจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายการจอดรถข้างทางเอาไว้ โดยเฉพาะกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ถือว่ามีสิทธิ์ขาดในการดำเนินคดีได้หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจากมาตราต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ เพราะมีเคสการจอดรถยนต์มากมายที่เป็นต้นเหตุของการจราจรติดขัด อุบัติเหตุบนท้องถนนจากการจอดโดยประมาท รวมไปถึงปัญหาการไม่ลงรอยกับเพื่อนบ้านซึ่งในเคสเหล่านี้มักจะเป็นข่าวให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำ

               ดังนั้นผู้ใช้รถยนต์ควรพิจารณาความเหมาะสมและตระหนักถึงความถูกต้องให้มากที่สุด เพื่อช่วยให้สังคมบนท้องถนนมีแต่ความปลอดภัยและมีน้ำใจให้แก่กัน สำหรับใครที่ต้องความคุ้มครองรถยนต์ที่ครอบคลุมความปลอดภัยต่างๆ อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่มีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี ประกันรถยนต์ชั้น 1 จาก TIPINSURE พร้อมมอบแผนประกันที่ตอบโจทย์การใช้งานประจำวันของคุณได้อย่างลงตัว สอบถามความคุ้มครองและซื้อประกันทางออนไลน์ คลิกเลย!

 

 

#Tag: