ราคาต่อภาษีรถยนต์ แต่ละประเภท ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร
31 ธันวาคม 2022
ผู้ชม: 218434 คน

 

ราคาต่อภาษีรถยนต์ แต่ละประเภท ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร

 

          เช็กที่นี่! ราคาต่อภาษีรถยนต์ สำหรับรถยนต์แต่ละประเภท มีการคำนวณค่าภาษีอย่างไร ราคาเท่าไรบ้าง ใครที่ต้องการ ต่อภาษีรถยนต์ ต่อทะเบียนรถยนต์ แต่ไม่แน่ใจว่าค่าภาษีรถยนต์ของตัวเองนั้นราคาเท่าไร วันนี้ TIPINSURE ก็มีวิธีคำนวณค่าภาษีรถยนต์มาฝากกันแล้ว ไปดูกันเลยว่ามีวิธีคิดอย่างไรบ้าง

 

ต่อภาษีรถยนต์ ราคาเท่าไร

          ในแต่ละปีที่เราต้องต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์นั้น เพื่อนๆ รู้ไหมว่า รถยนต์แต่ละคันก็มีราคาต่อภาษีรถยนต์ที่แตกต่างกันไป ตามประเภทของรถยนต์ที่ใช้ ขนาดเครื่องยนต์ น้ำหนักและอายุของรถ รวมไปถึง ประเภทการจดทะเบียนรถยต์ หากเป็นภาษีรถยนต์รับจ้าง ราคาต่อภาษีรถยนต์ก็จะแตกต่างจากรถยนต์จดทะเบียนส่วนบุคคล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1.รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือดำ)

          การคำนวณราคาต่อภาษีรถยนต์ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถเก๋ง จะคำนวณจากขนาดของเครื่องยนต์ หรือ ซีซี ดังนี้

  • 600 ซีซีแรก คิดซีซีละ 50 สตางค์
  • 601–1,800 ซีซี คิดซีซีละ 1.50 บาท
  • 1,801 ซีซีขึ้นไป ซีซีละ 4 บาท

          และยังมีส่วนลดให้สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป โดยจะเสียภาษีรถยนต์ลดลงตามสัดส่วน ดังนี้

  • รถยนต์อายุเกิน 6 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 10%
  • รถยนต์อายุเกิน 7 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 20%
  • รถยนต์อายุเกิน 8 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 30%
  • รถยนต์อายุเกิน 9 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 40%
  • รถยนต์อายุเกิน 10 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 50%

 

ตัวอย่าง : การคำนวณภาษีรถยนต์ ของรถเก๋งอายุ 7 ปี ขนาดเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี

  • 600 ซีซีแรก ซีซีละ 0.5 บาท = 600 x 0.5 = 300 บาท
  • 600-1500 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท = (1,500 – 600) = 900 x 1.50 = 1,350 บาท
  • นำผลลัพธ์ทั้งสองมารวมกัน จะได้ 300 + 1,350 = 1,650 บาท
  • ได้รับส่วนลด 20% เพราะเป็นรถที่อายุการใช้งาน 7 ปี เท่ากับ 1,650-20% = 1,320 บาท

ดังนั้น ราคาต่อภาษีรถยนต์ ของรถเก๋งอายุ 7 ปี เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี จะเท่ากับ 1,320 บาท

 

2.รถบรรทุกส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีเขียว)

          สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ รถบรรทุกส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถกระบะ 2 ประตู รถบรรทุก หรือ รถตู้ขนส่งสินค้า จะมีวิธีคิดคำนวณภาษีตามน้ำหนักรถยนต์

  • น้ำหนักรถ 0-500 อัตราภาษี 300 บาท
  • น้ำหนักรถ 501- 750 กก. อัตราภาษี 450 บาท
  • น้ำหนักรถ 751 – 1,000 กก. อัตราภาษี 600 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,001 – 1,250 กก. อัตราภาษี 750 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,251 – 1,500 กก. อัตราภาษี 900 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,501 – 1,750 กก. อัตราภาษี 1,050 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,751 – 2,000 กก. อัตราภาษี 1,350 บาท
  • น้ำหนักรถ 2,001 – 2,500 กก. อัตราภาษี 1,650 บาท
  • น้ำหนักรถ 2,501 – 3,000 กก. อัตราภาษี 1,950 บาท

 

3.รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีน้ำเงิน)

          สำหรับ รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้ ก็จะมีวิธีคำนวณราคาต่อภาษีรถยนต์ตามน้ำหนักเช่นกัน แต่คนละอัตรา ดังนี้

  • น้ำหนักรถไม่เกิน 1,800 กก. อัตราภาษี 1,300 บาท
  • น้ำหนักรถเกิน 1,800 กก. อัตราภาษี 1,600 บาท

 

ต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนได้บ้าง

          ปัจจุบันนี้ เราสามารถต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์ได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้

  • สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
  • จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
  • ที่ทำการไปรษณีย์
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th

 

เอกสารต่อภาษีรถยนต์

  • สมุดคู่มือจดทะเบียน หรือ สำเนาทะเบียนรถยนต์
  • เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ (เหลือวันหมดอายุมากกว่า 90 วัน)
  • ใบตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี
  • ใบรับรองการติดตั้งแก๊ส สำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งแก๊ส

 

          เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า ราคาต่อภาษีรถยนต์ มีราคาเท่าไรบ้าง อย่างไรก็ดี การต่อภาษีรถยนต์ นับเป็นสิ่งที่จำเป็นกับรถยนต์เป็นอย่างมาก ซึ่งหากใครที่ต้องการ ต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้า สามารถต่อภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่หากลืมต่อภาษีรถยนต์ ก็สามารถต่อภาษีย้อนหลังได้ แต่จะโดนค่าปรับ คิดเป็นร้อยละ 1 ต่อเดือน และหากขาดต่อภาษีรถยนต์เกิน 3 ปี จะถูกระงับทะเบียนรถยนต์ ต้องทำเรื่องขอจดทะเบียนใหม่

          ทั้งนี้ หากใครที่ต้องการทำประกันรถยนต์เพื่อความอุ่นใจ สามารถติดต่อกับ TIPINSURE เบี้ยประกันรถยนต์เริ่มต้นเพียง 4,900 บาท/ปีเท่านั้น อีกทั้งมีแผนประกันรถยนต์ให้เลือกมากมาย โดยสามารถ คลิกที่ www.tipinsure.com เพื่อเช็กเบี้ยประกันรถยนต์ หรือ ซื้อประกันรถยนต์ ออนไลน์ กับ ทิพยประกันภัย ได้ง่ายๆ

 

#Tag: