ภาษีขาด แต่ พรบ. ไม่ขาด จะมีผลอะไรหรือไม่
22 มิถุนายน 2022
ผู้ชม: 44140 คน

 

ภาษีขาด แต่ พรบ. ไม่ขาด จะมีผลอะไรหรือไม่   

 

          เรื่องราวบนท้องถนน นอกจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแล้ว บางครั้งก็ยังมีเรื่องคาดไม่ถึงของคนใช้รถเรื่องอื่น ๆ เกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน อย่างเช่น ขับรถอยู่ดี ๆ วันหนึ่งเกิดมีอุบัติเหตุขึ้นมา แต่พอมารู้ตัวอีกที อ้าว! ภาษีขาด ลืมต่อภาษีรถยนต์ซะอย่างนั้น เหตุการณ์แบบกรณีนี้จะทำอย่างไรดี หรือหากเป็นกรณีภาษีขาด แต่ พ.ร.บ. ไม่ขาด จะเคลมประกันได้หรือเปล่า จะได้ค่าชดเชยหรือไม่ จะโดนค่าปรับอะไรไหม ใครจะรับผิดชอบคู่กรณีให้ ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ต้องกังวลใจไป วันนี้เรามีคำตอบดี ๆ มาฝากกัน มาดูกันเลยว่าภาษีขาด แต่ พ.ร.บ. ไม่ขาด จะมีผลอะไรหรือไม่   

 

รู้จักภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. รถยนต์

          ต้องทำความเข้าใจกันก่อนเลยว่าภาษีขาด แต่ พ.ร.บ. ไม่ขาด มีความแตกต่างกัน การต่อภาษีรถยนต์ หรือการต่อทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นคนละส่วนกับการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ดังนี้

 

ภาษีรถยนต์ หรือทะเบียนรถยนต์

          คือภาษีที่เจ้าของรถ หรือผู้ใช้รถ มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ตามที่กำหนดในทุก ๆ ปี โดยภาษีรถยนต์จะถูกนำไปใช้ในการสร้างถนน ปรับปรุงพัฒนาระบบการจราจรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อเราต่อภาษีรถจะได้รับป้ายวงกลม จากกรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาติดตรงหน้ากระจกรถนั่นเอง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้รถของเราสามารถใช้ขับขี่บนถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยหากไม่ต่อภาษีรถยนต์หลังจากหมดอายุจะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับ 1%  ต่อเดือน หรือหากรถที่ไม่ต่อทะเบียนติดต่อกันเกิน 3 ปี จะถูกยกเลิกทะเบียนเดิม ต้องนำรถยนต์ไปจดทะเบียนใหม่

 

พ.ร.บ.รถยนต์

          เป็นส่วนที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องทำ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงในเบื้องต้นจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบอุบัติหตุจากรถยนต์ ทั้งในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยจะคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร ตลอดจนบุคคลที่ 3 เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องต่อ พรบ รถยนต์ทุกปีเช่นเดียวกันกับการต่อทะเบียนรถยนต์ ซึ่ง พ.ร.บ. นี้เรียกอีกอย่างว่าประกันรถยนต์ภาคบังคับนั่นเอง หากไม่ทำจะถือว่ามีความผิดและมีโทษตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ปี พ.ศ.2535 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

 

ภาษีขาด แต่ พรบ ไม่ขาด จะส่งผลอะไรบ้าง

          ในกรณีที่ภาษี กับ พ.ร.บ. รถยนต์ หมดไม่พร้อมกัน เช่น ลืมต่อทะเบียนรถยนต์ หรือยังไม่มีเวลาไปต่อ ส่วน พรบ จะหมดอายุแล้วหรือไม่ก็ตาม จะถือว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นผิดกฎหมาย และถ้าหากไม่ต่อภาษีจะส่งผลดังนี้

 

ต้องเสียค่าปรับ

          จริง ๆ แล้วการต่อภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ สามารถทำล่วงหน้าก่อนที่ทะเบียนขาด หรือหมดอายุได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือต่อทะเบียนออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก ควรหาเวลาทำก่อน ไม่ต้องรอให้ถึงวันทะเบียนหมดอายุก็ได้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง เช่น การต่อภาษีรถยนต์ล่าช้า จะต้องเสียค่าปรับ 1% ของภาษีรถยนต์ต่อเดือน เช่น หากต้องภาษีรถยนต์ปีละ 2,000 บาท จะต้องเสียค่าปรับล่าช้า เดือนละ 20 บาท หรือหากเจอเรียกตรวจก็ต้องเสียค่าปรับให้กับตำรวจเช่นเดียวกัน

 

ถูกระงับ หรือยกเลิกทะเบียนรถ

          หากไม่ได้ต่อทะเบียนรถยนต์นานเกิน 3 ปี กรมการขนส่งจะสามารถระงับทะเบียนรถยนต์ของเราได้ทันที กลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าเก่า เพราะเมื่อจะนำรถมาใช้ต้องไปยื่นขอจดทะเบียนใหม่ รวมไปถึงต้องชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลังอีกด้วย ส่วนกรณีที่รถต้องจอดเพื่อซ่อมข้ามปี หรือซ่อมป็นเวลายาวนาน ก็สามารถยื่นเรื่องให้กรมการขนส่งระงับการใช้รถชั่วคราวล่วงหน้าได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ในช่วงนั้น

 

ภาษีขาด แต่ พรบ ไม่ขาด หากเกิดอุบัติเหตุทำอย่างไร

          ในกรณีนี้จะยึดเอาการทำ พรบ หรือทำประกันเป็นหลัก หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะการทำประกันภัยรถยนต์ ไม่เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์อย่างที่บอกเอาไว้แล้วข้างต้น การต่อภาษีรถ คือ การชำระภาษีให้กับกรมการขนส่ง แต่การทำ พ.ร.บ. ประกันรถ คือ การซื้อความคุ้มครองรถยนต์จากบริษัทประกันภัย เมื่อประกันยังไม่ขาดก็ยังอยู่ในความคุ้มครองตามประเภทของ พ.ร.บ. นั่นเอง หรือหาก พ.ร.บ. ใกล้ขาด ก็สามารถซื้อประกันออนไลน์ง่าย ๆ ได้ที่ www.TIPINSURE.com เช่นกัน

          เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถยนต์เป็นประจำ ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าถึงเวลาที่ใกล้จะชำระภาษี ต่อทะเบียนรถยนต์ หรือต่อ พรบรถยนต์เมื่อไหร่ หากคิดว่าไม่มีเวลา จะได้หาทางวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถใช้รถได้อย่างต่อเนื่องและถูกกฎหมาย ไม่ต้องไปสุ่มเสี่ยงกับเรื่องไม่คาดคิดโดยไม่จำเป็น

#Tag: