ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง แจ้งขอเงินชดเชยประกันสังคมอย่างไร มาดูกัน!
07 พฤษภาคม 2025
ผู้ชม: 61 คน

แจ้งขอเงินชดเชยประกันสังคม ต้องทำอย่างไร มาดูกัน!

ขอเงินชดเชยประกันสังคม ต้องทำอย่างไร

การลาออกจากงานโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ หรือการถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันเป็นสถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับ.ใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่า ระหว่างที่คุณว่างงานนั้น คุณมีสิทธิได้รับเงินชดเชยประกันสังคมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ วันนี้ TIPINSURE ได้รวบรวมรายละเอียดสำคัญที่ผู้ประกันตนควรรู้ มาดูกันว่าสิทธิประโยชน์นี้คืออะไร และเราต้องทำอย่างไรเพื่อขอรับสิทธิดังกล่าว ติดตามได้ในบทความนี้

 

เงินชดเชยประกันสังคม คืออะไร?

เงินชดเชยประกันสังคมกรณีว่างงาน คือ สิทธิประโยชน์ทดแทนที่จัดให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้างในสถานประกอบการ) ที่ต้องประสบกับภาวะการว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลิกจ้าง การลาออกด้วยความสมัครใจ หรือการสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ยังหางานใหม่ไม่ได้

 

เงื่อนไขและคุณสมบัติที่ต้องมี

ก่อนที่คุณจะสามารถขอรับเงินชดเชยประกันสังคมได้ คุณจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
  2. ต้องมีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  3. ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมการจัดหางาน
  4. ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  5. ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
  6. ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  7. ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

ประเภทของการว่างงานที่ได้รับสิทธิ

ผู้ประกันตนสามารถได้รับเงินชดเชยประกันสังคมในกรณีว่างงานด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  1. กรณีถูกเลิกจ้าง (ยกเว้นกรณีถูกเลิกจ้างเนื่องจากทุจริต จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับร้ายแรง ละทิ้งหน้าที่ 7 วันติดต่อกัน ประมาทเลินเล่อร้ายแรง หรือได้รับโทษจำคุก)
  2. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
  3. กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่น การระบาดของโรคติดต่ออันตราย

ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินสมทบก่อนการว่างงาน

ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย

ขั้นตอนการยื่นขอรับเงินชดเชยประกันสังคม


ขั้นตอนการยื่นขอรับเงินชดเชยประกันสังคม

ลงทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์หรือสำนักงานจัดหางาน

ผู้ประกันตนที่ว่างงานต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กรณีขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
  2. กรณีขึ้นทะเบียนว่างงานเกิน 30 วัน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ขึ้นทะเบียนว่างงานจนครบสิทธิ

หลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ประกันตนต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง (รายงานตัววันใดก็ได้ภายในเดือนที่นัด)

เตรียมเอกสารที่ต้องใช้

เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอรับเงินชดเชยประกันสังคมกรณีว่างงาน มีดังนี้

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6-09)
  3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน (รองรับ 9 ธนาคาร หรือพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน)

ในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จะต้องมีหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย (สำหรับนายจ้าง) เพิ่มเติม

วิธียื่นคำขอและช่องทางที่สามารถทำได้

  1. ผู้ประกันตนสามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่
  2. สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่
  3. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
  4. ยื่นทางไปรษณีย์
  5. กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยสามารถยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ (ไม่ต้องใช้เอกสารประกอบ)

ทั้งนี้ ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ

 

อัตราเงินชดเชยและระยะเวลาการจ่าย

อัตราเงินชดเชยประกันสังคมและระยะเวลาการจ่ายจะแตกต่างกันตามประเภทของการว่างงาน ดังนี้

  1. กรณีถูกเลิกจ้าง
  • ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน
  • อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย
  1. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
  • ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน
  • อัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย
  1. กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  • ได้รับเงินทดแทนตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกินคราวละ 90 วัน
  • อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน

 

วิธีคำนวณอัตราเงินชดเชย

การคำนวณเงินชดเชยประกันสังคมจะใช้ฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น

  • ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับ 5,000 บาทต่อเดือน (50% ของค่าจ้างเฉลี่ย)
  • ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท กรณีลาออกจะได้รับ 3,000 บาทต่อเดือน (30% ของค่าจ้างเฉลี่ย)

ระยะเวลาสูงสุดที่ได้รับเงินชดเชย

  • กรณีถูกเลิกจ้าง ไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน
  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ไม่เกิน 90 วันต่อปีปฏิทิน
  • กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ไม่เกิน 90 วันต่อคราว

หากมีการยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างเกินกว่า 1 ครั้งภายใน 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้งภายใน 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

สรุปบทความการรับเงินชดเชยประกันสังคม


สรุปบทความ

การรับเงินชดเชยประกันสังคมกรณีว่างงานเป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ผู้ประกันตนต้องประสบกับภาวะว่างงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ผู้ประกันตนสามารถดำเนินการขอรับสิทธิได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด 
นอกจากความคุ้มครองจากประกันสังคมแล้ว การมีประกันภัยที่ครอบคลุมความเสี่ยงด้านอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ TIPINSURE ผู้ให้บริการประกันภัยภายใต้การดูแลโดย ทิพยประกันภัย พร้อมให้บริการด้วยประกันภัยหลากหลายประเภทที่ช่วยให้คุณมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพที่ช่วยเสริมความคุ้มครองนอกจากประกันสังคม เข้ามาเช็กแผนประกันที่ต้องการได้ผ่านทางเว็บไซต์ TIPINSURE ได้เลย

#Tag: