เช็กอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2568 จ่ายเดือนละเท่าไหร่บ้าง
07 พฤษภาคม 2025
ผู้ชม: 81 คน

เช็กอัตราเงินสมทบประกันสังคม ม.33, 39, 40 จ่ายเดือนละเท่าไหร่บ้าง

เช็กอัตราประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่
การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ประกันตนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33 (ลูกจ้างประจำ) มาตรา 39 (ผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างและลาออก) หรือมาตรา 40 (อาชีพอิสระ) ซึ่งแต่ละมาตรามีอัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน วันนี้ TIPINSURE จะมาอัปเดตอัตราเงินสมทบล่าสุด วิธีคำนวณ ประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่ และช่องทางการจ่ายเงินสมทบของแต่ละมาตรา เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน ปักหมุดกันได้เลย!

 

อัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 (ลูกจ้างประจำ)

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ พนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยลูกจ้างและนายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกัน พร้อมกับรัฐบาลที่จะร่วมจ่ายสมทบในอัตราที่กำหนด ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์เต็มรูปแบบ

อัตราเงินสมทบ มาตรา 33 ล่าสุด (นายจ้างและลูกจ้าง)

ปัจจุบัน อัตราเงินสมทบประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 แบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้

ผู้จ่ายเงินสมทบ อัตราเงินสมทบ
(% ของค่าจ้าง)
นายจ้าง 5%
ลูกจ้าง 5%
รัฐบาล 2.75%

ตัวอย่างการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33:

  • กรณีเงินเดือน 15,000 บาท:
  • ลูกจ้างจ่าย: 15,000 × 5% = 750 บาท
  • นายจ้างจ่าย: 15,000 × 5% = 750 บาท
  • กรณีเงินเดือน 20,000 บาท:
  • ลูกจ้างจ่าย: 15,000 × 5% = 750 บาท (คำนวณจากฐานสูงสุดที่ 15,000 บาท)
  • นายจ้างจ่าย: 15,000 × 5% = 750 บาท (คำนวณจากฐานสูงสุดที่ 15,000 บาท)

ฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบ:

  • ฐานค่าจ้างขั้นต่ำ: 1,650 บาท
  • ฐานค่าจ้างขั้นสูง: 15,000 บาท

 

ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันสังคม มาตรา 33

ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 7 กรณี ดังนี้

  1. กรณีเจ็บป่วย
  • รักษาพยาบาลฟรีในสถานพยาบาลตามสิทธิ์
  • เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง (ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 วันต่อปี)
  • กรณีโรคเรื้อรัง ได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 365 วันต่อปี
  • สิทธิทันตกรรม ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี
  1. กรณีคลอดบุตร
  • เงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท (ไม่จำกัดสถานพยาบาลหรือจำนวนครั้ง)
  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้สูงสุด 2 ครั้ง)
  1. กรณีทุพพลภาพ
  • เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือน (กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับตลอดชีวิต)
  • ค่าบริการทางการแพทย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  1. กรณีเสียชีวิต
  • ค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ)
  1. กรณีชราภาพ
  • เงินบำนาญชราภาพ หรือ เงินบำเหน็จชราภาพ (ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบ)
  1. กรณีสงเคราะห์บุตร
  • เงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน (ไม่เกิน 3 คน และอายุไม่เกิน 6 ปี)
  1. กรณีว่างงาน
  • กรณีถูกเลิกจ้าง: ได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ไม่เกิน 180 วันต่อปี
  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง: ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ไม่เกิน 90 วันต่อปี

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่

อัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 (ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ)

ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับจากประกันสังคมต่อไปได้

อัตราเงินสมทบ มาตรา 39 ที่ต้องจ่ายเอง

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท โดยคำนวณจาก:

  • ฐานเงินเดือนคงที่ 4,800 บาท
  • อัตราเงินสมทบ 9% (4,800 × 9% = 432 บาท)

ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันสังคม มาตรา 39

ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้แก่:

  1. กรณีเจ็บป่วย 
  • สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ของประกันสังคมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คิดจากฐานเงินเดือน 4,800 บาท = 2,400 บาท/เดือน)
  • จ่ายได้ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 วันต่อปี กรณีโรคเรื้อรัง สามารถเบิกได้สูงสุด ไม่เกิน 365 วันต่อปี
  1. กรณีคลอดบุตร
  • เบิก เงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท/ครั้ง
  • เบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน 
  • เบิกได้ สูงสุด 2 ครั้ง
  1. กรณีทุพพลภาพ
  • กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 เดือน
  • กรณีทุพพลภาพรุนแรงจะได้รับเงินตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
  1. กรณีตาย
  • ได้รับ ค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตเพิ่มเติม (ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่จ่ายเงินสมทบ)
  1. กรณีสงเคราะห์บุตร
  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท/คน ต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย
  • ไม่เกิน 3 คน และบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 6 ปี
  1. กรณีชราภาพ
  • ได้รับ เงินบำนาญชราภาพ (รายเดือน) หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ เงินบำเหน็จชราภาพ (ก้อนเดียว) หากจ่ายไม่ครบตามเงื่อนไขเงินบำนาญ

หมายเหตุ: ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

 

อัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40 (ผู้ประกันตนอิสระ)

ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างของนายจ้าง สามารถสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้

อัตราเงินสมทบ มาตรา 40 และสิทธิประโยชน์ตามทางเลือก

ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถเลือกจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก ดังนี้:

ทางเลือก ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ/เดือน รัฐบาลสมทบ
ทางเลือกที่ 1 70 บาท 30 บาท
ทางเลือกที่ 2 100 บาท 50 บาท
ทางเลือกที่ 3 300 บาท 150 บาท

หมายเหตุ: ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 และ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันสังคม มาตรา 40

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับแตกต่างกันตามทางเลือก ดังนี้


ทางเลือกที่ 1 (70 บาท/เดือน)

  • กรณีเจ็บป่วย: เงินทดแทนการขาดรายได้ เช่น นอนโรงพยาบาล 300 บาท/วัน, หยุดพักรักษาตัว 200 บาท/วัน (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ: เงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (15 ปี)
  • กรณีตาย: ค่าทำศพ 25,000 บาท, เงินสงเคราะห์ 8,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือน)

ทางเลือกที่ 2 (100 บาท/เดือน)

  • ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 1
  • เพิ่มเติม: กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน)

ทางเลือกที่ 3 (300 บาท/เดือน)

  • กรณีเจ็บป่วย: เงินทดแทนการขาดรายได้ เช่น นอนโรงพยาบาล 300 บาท/วัน, หยุดพักรักษาตัว 200 บาท/วัน (ไม่เกิน 90 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ: เงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ตลอดชีวิต)
  • กรณีตาย: ค่าทำศพ 50,000 บาท
  • กรณีชราภาพ: เงินบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน, เงินเพิ่มเติม 10,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป)
  • กรณีสงเคราะห์บุตร: 200 บาท/เดือน/คน (ไม่เกิน 2 คน, อายุไม่เกิน 6 ปี)

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่ ช่องทางชำระเงิน


ช่องทางการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทุกมาตรา

สำหรับมาตรา 33

  • นายจ้างเป็นผู้นำส่งเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคม

สำหรับมาตรา 39

  1. จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
  2. หักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร 6 ธนาคาร
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  1. จ่ายเงินสดที่
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-ELEVEN) ค่าธรรมเนียม 10 บาท
  • ที่ทำการไปรษณีย์ (ธนาณัติ)
  • เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียม 10 บาท
  • เคาน์เตอร์เพย์สบาย (แจ๋ว) ค่าธรรมเนียม 10 บาท

สำหรับมาตรา 40

  • จ่ายที่สำนักงานประกันสังคม
  • จ่ายที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
  • จ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-ELEVEN)
  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์
  • จ่ายผ่านแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้ง

 

สรุปภาพรวมอัตราเงินสมทบประกันสังคมแต่ละมาตรา

มาตรา อัตราเงินสมทบ จำนวนสิทธิประโยชน์
มาตรา 33 5% ของค่าจ้าง (ฐาน 1,650-15,000 บาท) 
แบ่งเป็น ลูกจ้าง 5%, นายจ้าง 5%, รัฐบาล 2.75%
7 กรณี
มาตรา 39 432 บาท/เดือน (9% ของ 4,800 บาท)
ผู้ประกันตนจ่ายเอง
6 กรณี (ไม่รวมว่างงาน)

มาตรา 40

(ทางเลือก 1)

ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท, รัฐบาล 30 บาท 3 กรณี

มาตรา 40

(ทางเลือก 2)

ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท, รัฐบาล 50 บาท 4 กรณี

มาตรา 40

(ทางเลือก 3)

ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท, รัฐบาล 150 บาท 5 กรณี

 

ประกันสังคมถือเป็นหลักประกันสำคัญสำหรับคนไทย ไม่ว่าประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่ หรือมาตราอื่นๆ ล้วนให้ความคุ้มครองที่จำเป็นต่อชีวิตในหลายด้าน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ จะช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

TIPINSURE ผู้ให้บริการประกันภัยภายใต้การดูแลโดยทิพยประกันภัย พร้อมให้บริการด้วยประกันภัยหลากหลายประเภท เพื่อเติมเต็มความคุ้มครองนอกเหนือจากสิทธิประกันสังคม โดยเฉพาะประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ ที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับทุกคนได้อย่างครอบคลุม แม้ในยามเจ็บป่วยก็ยังยิ้มได้ เช็กแผนประกันกรมธรรม์ที่ต้องการได้ผ่านเว็บไซต์ได้เลย

#Tag: